บทความที่น่าสนใจ

เสริมสิริมงคลปีขาล ไหว้ 8 ศาลเจ้าเยาวราช-ตลาดน้อย

เฮง เฮง เฮง! ปีนี้ดวงต้องเฮง ต้องปัง เสริมสิริมงคลเติมแต้มบุญปีขาล

หลีกเลี่ยงคนแน่นจากศาลเจ้าขนาดใหญ่ในเทศกาลตรุษจีน

มาเช็กอิน 8 ศาลเจ้าเล็กๆ แบบไม่ลับ เส้นทางย่านเยาวราช-ตลาดน้อย

1.ศาลเจ้าจุนเสียงโจซือ

ศาลเจ้าขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอกหัวเม็ด ใกล้สะพานหัน ถนนจักรวรรดิ โครงสร้างอาคารร้อยกว่าปี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวจีนฮกเกี้ยน โดดเด่นด้วยศิลปะฉบับจีนฮกเกี้ยนผสมผสานแต้จิ๋ว ตัวผังศาลเจ้ามีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ผังกง) ภายในประดิษฐานเทพประธานหลี่ตงปิน (จุนเสียงโจซือ) แกะสลักด้วยไม้ เป็นเทพองค์ที่ 3 ใน 8 เซียน ตระกูลโป๊ยเซียน ตามประวัติเป็นเทพที่มีความรู้ความสามารถมากในสมัยราชวงศ์ถัง คู่กายพร้อมด้วยอาวุธกระบี่วิเศษคู่  มือจรดพู่กัน สัญลักษณ์แห่งการศึกษาเล่าเรียน

เคล็ดลับการขอพร : ความสำเร็จด้านการงาน การศึกษา

นอกจากนี้ภายในยังมีเทพเจ้าลีเซียงซือกง องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม รวมถึงเครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 กระถางธูปพระราชทานสลักพระปรมาภิไธย จปร. เบื้องหน้าเทพประทานของศาลแห่งนี้ด้วย

พิกัด Chun Sieng Cho Sue Shrine

https://goo.gl/maps/tXB7AQNGQYzujkSJA

 

2.โรงเจเตียชูหั่ง (โรงเจบุญสมาคม)

โรงเจแห่งแรกในย่านสัมพันธวงศ์ และเก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราช เป็นโรงเจที่ได้รับพระราชทานป้ายชื่อจากรัชกาลที่5 จากชื่อเดิม โรงเจตรอกไกร (ตามชื่อซอย) เป็นชื่อ โรงเจบุญสมาคม สร้างโดยพ่อค้าและคหบดีชาวจีนสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพื้นที่ประกอบอาหารเลี้ยงและบริจาคทานแก่ประชาชน ต่อมาได้บูรณะอาคารใหม่ทับโรงเจเดิม จากข้อสันนิษฐานด้านวิชากร สถาปัตยกรรมโรงเจแห่งนี้ออกแบบด้วยฝีมือช่างชาวจีนถ่ายทอดเอกลักษณ์งานศิลปะจีนฮกเกี้ยนที่เน้นลวดลายเส้นโค้ง ตกแต่งด้วยงานแกะสลักซับซ้อนรูปสัตว์ ผลไม้มงคล และเสาแกะสลักมังกร นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งด้วยเทคนิค “เชี่ยนฉือ” คือการตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็ก มาประกอบกันเป็นเรื่องราวต่างๆ ละเอียดงดงามมากถือเป็นไฮไลต์ของโรงเจแห่งนี้

ด้านในสุดประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม(องค์กลาง) และขุนพล 9 องค์ (กิ่วอ๊วง) ซึ่งเป็นเทพที่คอยดูแลคุณงามความดี บันทึกความดีถือเเผ่นไม้ ในกรอบไม้แกะสลักภาพวรรณกรรมจีนสามก๊ก กรอบเถาองุ่น สะท้อนการเข้ามาของศิลปะตะวันตก ด้านซ้ายและขวาของอาคาร ปรากฎประตูแปดเหลี่ยม สถานที่เก็บแผ่นป้ายสถิตดวงวิญญาณของบรรพบุรุษชาวจีนผู้มีคุณูปการต่อโรงเจหรือผู้ยากไร้

 

พิกัด : https://goo.gl/maps/gU9yyhN4KkDoMQ3x9

 

3.ศาลเจ้าอาเนี้ย

ศาลเจ้าในตรอกย่านสำเพ็ง ถนนทรงวาดศูนย์รวมจิตใจและมีความสำคัญในแง่มุมประวัติศาสตร์ชุมชนครั้งท่าน้ำราชวงศ์เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ ย่านนี้มีจึงมีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่นและมีบ้านเรือนสร้างด้วยไม้อยู่ติดกันจำนวนมาก  ทำให้เกิดเพลิงไหม้อยู่บ่อยครั้ง ชาวจีนในแถบนี้จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ขึ้น ด้านในประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานพรบนแท่นดอกบัว หรือ “อาเนี้ย” ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วที่นิยมใช้เรียกเจ้าแม่กวนอิม ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติ ปกป้องคุ้มครองชุมชน

และที่เป็นข้อสังเกตของศาลเจ้าแห่งนี้ ชาวบ้านแก้เคล็ดด้วยการนำผ้าแดงมาพันกระถางธูปไว้ เปลี่ยนด้านหน้าเป็นด้านหลัง ให้ด้านหน้ากระถางธูปหันหน้าไปทางชุมชนเพื่อให้องค์เจ้าแม่กวนอิมปกป้องชุมชนจากเหตุเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติต่างๆ นั่นเอง

พิกัด https://goo.gl/maps/urHs6ecYbumen1aL7

 

4. วัดกุศลสมาคร

วัดญวนแบบอนัมนิกาย บนถนนราชวงศ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพ่อค้าเชื้อสายญวน และได้รับชื่อพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในอุโบสถก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้นรูปมังกรดั้นเมฆ ประดิษฐานประธานองค์เดียว พระศรีศากยมุนีปางสมาธิ พระพักตร์อวบอิ่ม พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย-ขวา แบบมหายานด้านขวาของอุโบสถเป็นเจดีย์หกชั้น สร้างโดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี

พิกัด https://goo.gl/maps/pp7mtDk8bPgpNExh6

 

5. ศาลเจ้ากว๋องสิว หรือ ศาลเจ้ากวางตุ้ง

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมาคมกว๋องสิว สมาคมชาวจีนกวางตุ้ง ได้รวมเงินกันซื้อที่ดินบนถนนเจริญกรุง ในปี พ.ศ.2420 เริ่มจากการสร้างเป็นศูนย์กลางการติดต่อสื่อสารของชาวจีนในย่านนี้และต่อมาสร้างศาลเจ้าตามความเชื่อนิกายมหายาน ตกแต่งด้วยวัสดุจากเมืองจีน โดดเด่นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารแบบสามเรือนล้อมลาน หรือ “ซาน เห่อ ย่วน” และไฮไลต์สำคัญได้แก่ ตัวอักษรคำว่า “ฟู่” แปลว่า โชควาสนา ล้อมด้วยค้างคาว 4 ตัวบนบานประตู เปรียบเสมือนคำอวยพรแก่ผู้เข้ามาสักการะในศาลแห่งนี้

ภายในประดิษฐาน ซำป้อหุกโจ้ว และองค์พระแม่กวนอิมปางประธานพร ก่อนพระประธานพระอวโลกิเตศวร พระพุทธเจ้า 3พระองค์ตามความเชื่อจีนโบราณ เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย เทพเจ้าเสือ จี้กง กวนอู โลวป๊าน เหล่าจื้อ ให้ผู้ศรัทธาเข้ามาไหว้ขอพร เสริมสิริมงคล  ไม่เพียงเท่านั้น ศาลกว๋องสิวแห้งนี้ยังได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอีกด้วย

พิกัด https://goo.gl/maps/Kp9NQAfG1fmQR6nM9

 

6. ศาลเจ้าฉื่อปุยเนียเนี้ย

ศาลเจ้าเล็กๆ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 บนถนนพาดสาย แต่เดิมบริเวณนี้เป็นแหล่งเสื่อมโทรม รกร้าง เป็นกองขยะมาก่อน เล่ากันว่ามีการอัญเชิญองค์เจ้าแม่กวนอิมขึ้นเกี้ยวมาจากเมืองจีนเพื่อไปขึ้นประดิษฐานที่ใดที่หนึ่งขบวนอัญเชิญได้เดินทางผ่านถนนเส้นนี้ แต่เกี้ยวมีน้ำหนักมาก ยกต่อไม่ไหว ต้องมาพักอยู่ที่กองขยะบริเวณนี้ เชื่อว่าองค์เจ้าแม่กวนอิมต้องการประดิษฐานอยู่บริเวณนี้ จึงมีการพัฒนาปรับภูมิทัศน์และสร้างศาลเจ้าขึ้นด้วยอิทธิพลของศิลปะจีนแต้จิ๋วยุคปลายราชวงศ์ชิง ศิลปะของสถปัตยกรรมไม่หวือหวาหรือมีลวดลายมากนัก

องค์เจ้าแม่กวนอิมในศาลเจ้าแห่งนี้มีขนาดเล็ก สลักจากไม้ มีใบหน้ากลมเอิบอิ่ม ยื่นหน้าออกมามององค์สักการะ ชาวจีนเชื่อว่าเมื่อได้เข้ามากราบองค์เจ้าแม่กวนอิมนี้เหมือนได้ชำระจิตใจที่ยุ่งเหยิงเหมือนกองขยะให้สงบและสะอาดขึ้น ด้านขวามีไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าโชคลาภ 2 องค์ ได้แก่ องค์ศิลปะแบบจีน และองค์ศิลปะแบบทิเบต ใบหน้าดุดัน อุดมสมบูรณ์ หาชมได้ยากมีอายุต้นแบบมากกว่า 1,300 ปี

เคล็ดลับการขอพร : ความสำเร็จด้านธุรกิจ การงาน

พิกัด https://goo.gl/maps/suJ9ETcwnDA3iMGc6

 

7.ศาลเจ้าเซียงกง

ศาลเจ้าคุณทวดเทวดา ศาลเก่าแก่ของชาวจีนฮกเกี้ยนที่สร้างขึ้นในราวรัชกาลที่ 3 ซึ่งคำว่า “เซียงกง” หลายคนได้ยินแล้วคงนึกถึงย่านอะไหล่รถมือสองในแถบเยาวราช แต่จริงๆแล้ว “เซียงกง” หมายถึง ทวดเทวดา เป็นเทพเจ้าประจำท้องถิ่นที่คอยปกป้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้อยู่เย็นเป็นสุข

เคล็ดลับการขอพร : ป้องคุ้มครองอำนวยพรให้ปลอดภัย มีโชคลาภ

พิกัด https://goo.gl/maps/HbwHBTju8f5nD1vw5

 

8.ศาลเจ้าหลี่ตี่เมี่ยว

ศาลเจ้าแห่งสุดท้ายนี้ ตั้งอยู่ใกล้แยกแปลงนาม ถนนพลับพลาชัย เป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ทรงอาคารสมัยปลายรัชกาลที่ 5 สร้างแบบผสมผสานระหว่างศาลเจ้าและพระราชวัง มีบันไดสูงขึ้นสู่ตัวอาคารด้านบน ภายในมีองค์เทพหลีไทตี้ เป็นเทพประธานดูแลความเป็นอยู่ทุกข์สุขให้แก่ผู้คน นิยมมาไหว้ขอความรัก คู่ครองที่ดี การครองรักที่มีความสุข และสำหรับผู้ที่มีคู่ครองแล้ว นิยมมาไหว้ขอบุตรสืบสกุล

และมุมซ้ายภายในศาลเจ้า มีมุมเสี่ยงเซียมซียา แก่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพสามารถมาเสี่ยงทายเซียมซี แบ่งเป็นกระบอกเซียมซียาสตรียาบุรุษ ยากุมาร โดยแนะนำให้อธิษฐานจิตแก่เทพประธาน ตั้งสมาธิและเสี่ยงเซียมซี เมื่อได้หมายเลขและใบเซียมซี ก็นำใบเซียมซีนั้นไปให้หมอยาที่ศาลเจ้าจัดยาสมุนไพรจีนเพื่อไปต้มรักษาอาการป่วย ตามความเชื่อของศาลแห่งนี้

เคล็ดลับการขอพร : ขอพรด้านความรัก การครองคู่ และบุตร

พิกัด https://goo.gl/maps/vRxPkQoKmPEzpajd6

 

 

แสดงผล 1893 ครั้ง