ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวองค์กร

ททท. แท็กทีม “บันลือกรุ๊ป” สร้างมิติใหม่นำแหล่งท่องเที่ยว x การ์ตูน เตรียมโปรโมตเกาะขายหัวเราะ จ.ตราด หลังโควิด-19 คลี่คลาย

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราด และกลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ปผู้ก่อตั้งหนังสือการ์ตูน “ขายหัวเราะ” ร่วมกันสร้างมิติใหม่ของการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวไทยนำฉากสุดคลาสสิกของการ์ตูนขายหัวเราะอย่างมุกติดเกาะมาตอกย้ำเอกลักษณ์ภาพจำของเกาะขนาดเล็กและต้นไม้เพียงต้นเดียว เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว เกาะขายหัวเราะ จ.ตราด หวังขยายกลุ่มเป้าหมาย Gen Y และวัยทำงาน พร้อมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน อารมณ์ดี มีความสุข หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นายอิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานตราด กล่าวว่า ททท. มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานกับกลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ป ถือเป็นมิติใหม่ที่เกิดจากความเข้ากันพอดีของสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดตราดกับภาพจำของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ที่มีฉากคลาสสิกของหนังสือ คือ ตัวการ์ตูนติดเกาะ ททท. จึงนำ 2 สิ่งนี้มารวมกัน เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์ของทั้ง 2 สิ่ง คือ เกาะขนาดเล็กที่มีต้นไม้เพียงต้นเดียว สำหรับเกาะที่เรากำลังดำเนินการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเกาะนกนอก ซึ่งเชื่อมมาจากเกาะนกใน และเกาะกระดาด เกาะนี้จะมีจังหวะที่โผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำลด ซึ่งจะเห็นพื้นที่เกาะเล็กน้อยและมีต้นไม้ (ต้นตะบัน) ขึ้นอยู่เพียงต้นเดียว ปรากฏภาพที่คล้ายกับฉากคลาสสิกของหนังสือขายหัวเราะพอดี นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ผ่านมาพบเห็นจึงมักเรียกว่า “เกาะขายหัวเราะ” ททท. คาดว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวเกาะขายหัวเราะและหมู่เกาะใกล้เคียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อขยายกลุ่มนักท่องเที่ยว GenY วัยทำงานตอนต้น และสามารถขยายไปยังกลุ่มแฟนการ์ตูนของขายหัวเราะ อีกทั้ง ช่วยสร้างบุคลิกและบรรยากาศให้การท่องเที่ยวเต็มไปด้วยความสนุกสนาน อารมณ์ดี มีความสุขเมื่อได้มาเยือน ภายหลังสถานการณ์
โควิด-19 ดีขึ้นด้วย

นางสาวพิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเครือบันลือกรุ๊ป เผยว่า ขายหัวเราะต้องการใช้ความถนัดของเรา ในด้านการ์ตูน คาแรกเตอร์ อารมณ์ขัน และ storytelling มาเป็นสื่อและสร้างกิมมิกในการพัฒนา Content และออกแบบ Content Marketing รูปแบบแคมเปญที่สนับสนุนต่อยอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้ ว่าเกาะขายหัวเราะที่ทุกคนคุ้นเคยจากแก๊กการ์ตูนและปกขายหัวเราะนั้นมีอยู่จริงๆ และน่าไปมากๆ เพราะเชื่อมโยงจินตนาการและความสนุกด้วยประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร

 การเดินทางไปเที่ยวเกาะขายหัวเราะไม่ยาก จึงอยากขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว นักผจญภัย นักเดินทาง และผู้รักอารมณ์ขันและจินตนาการทั้งหลายให้ไปเที่ยวทริปเกาะขายหัวเราะ ณ จังหวัดตราดกัน หรือทดไว้ในใจว่าจะต้องไปให้ได้ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายและเปิดกว้างให้ท่องเที่ยวอีกครั้ง แบรนด์ขายหัวเราะเข้าถึงและเป็นมิตรครอบคลุมกลุ่มแฟนทุกเพศทุกวัย และหลากหลายเจเนอเรชั่นอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากจะรู้จักผูกพันกับขายหัวเราะและแก๊กติดเกาะ จึงมีความเหมาะสมสอดคล้องในการสื่อสารแคมเปญนี้

ขายหัวเราะในฐานะ ‘สำนักการ์ตูนไทย’ นั้นมี DNA จุดเด่นเฉพาะตัว คือ ความถนัดในการใช้สื่อการ์ตูนเล่าเรื่องได้ทุกเรื่อง และความเข้าใจ insight รสนิยมความบันเทิงสนุกสนานและ culture แบบไทยๆ อยู่แล้ว ซึ่งน่าจะนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อีกหลากหลายแนวทาง สำหรับประเทศไทยนั้น ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในการใช้พลังการ์ตูนและ soft power มาสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และแปลกใหม่     เรียกได้ว่าแคมเปญเกาะขายหัวเราะ เป็นก้าวแรกที่สำคัญทั้งกับขายหัวเราะและโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคต อาจจะมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์ใหม่ๆ รูปแบบ storytelling ที่แตกต่างไปจากเดิม หรือการทำแคมเปญ ที่ไม่จำกัดรูปแบบ ซึ่งน่าจะเหมาะกับเทรนด์การท่องเที่ยวในอนาคต ที่นักท่องเที่ยวต้องการมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวท้องถิ่นหลากหลายรูปแบบและเชิงลึกมากขึ้นด้วย

หลังจากที่โลกของการเดินทางต้องหยุดนิ่งมานาน นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ล้วนโหยหาความสุขจากการเดินทาง จึงมีการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือการบูรณาการแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อรับกระแส Next Normal ของการท่องเที่ยว ซึ่งการ์ตูนสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน ในด้านการประชาสัมพันธ์ การผูกเรื่องราวและภาพลักษณ์ของคาแรกเตอร์กับการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัด  ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงอนุรักษ์ เชิงวัฒนธรรม  การมุ่งสร้างองค์ความรู้เพื่อนักท่องเที่ยวทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่ม การเล่าด้วยการ์ตูนก็ทำได้อย่างไม่ยัดเยียด ประสบการณ์ที่มีความสัมพันธ์กับคาแรกเตอร์ เรื่องเล่าวัยเยาว์  ล้วนทำให้เกิดมิตรภาพและความประทับใจ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วจากแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำทั่วโลกว่า การ์ตูนและคาแรกเตอร์ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีและเข้าถึงกับผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย

เมื่อเรากำลังมุ่งหน้าสู่ระยะต่อไปเพื่อการฟื้นฟูประเทศ ขายหัวเราะก็ยินดีและมีความสุขที่จะมีส่วนร่วมในการนำตัวละครในการ์ตูนมาสนับสนุนภาคเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ  การ์ตูนไทยถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกได้ เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนสามารถผลักดันขับเคลื่อนให้ขยายตัวเป็นสินค้าและบริการเชิงพาณิชยกรรมได้  สามารถยกระดับเป็นเครื่องมือสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนวัฒนธรรม

ประเทศไทยของเรายังมีเรื่องราวดี ๆ อีกมากมายในหลากหลายท้องที่ ซึ่งรอให้นักท่องเที่ยวได้มาค้นพบมิติใหม่ของการเล่าเรื่องด้วยพลังการ์ตูนของ ททท น่าจะจุดประกายเชื้อเชิญให้นักเดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่จริง  ไม่ว่าจะเป็นเกาะขายหัวเราะ มุมตึกคึกคัก หรือทะเลทรายสบายใจ รวมทั้งกองทัพตัวการ์ตูนมากมายที่พร้อมใจรอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนทุก ๆ คน

ขายหัวเราะต้องขอขอบคุณแฟน ๆ ที่นึกถึงกัน และขอบคุณทาง ททท. ที่ให้เกียรติเชิญขายหัวเราะมาโปรโมตเกาะแห่งนี้ในนาม ‘เกาะขายหัวเราะ’ อย่างเป็นทางการ โดยมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันตั้งรับ ฟื้นฟู และส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์โรคโควิด 19 คลี่คลาย ซึ่งหลายภาคส่วนทั้งการท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับท้องถิ่นต้องการการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมาก

นายอิษฎา เสาวรส ผอ. ททท. สำนักงานตราด กล่าวเพิ่มเติมถึงความพร้อมของจังหวัดตราดรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายว่า พื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดตราดมองได้ 4 ส่วน คือ 1. บนฝั่ง 2. หมู่เกาะช้าง 3. เกาะกูด และ 4. เกาะหมาก พื้นที่บนฝั่งจะโดดเด่นในเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อาหาร และชายหาดโซนอำเภอคลองใหญ่ที่เชื่อมโยงชายแดนไทย – กัมพูชา เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเกษียณ เดินทางสะดวกและมีสินค้าชุมชนที่โดดเด่น สำหรับเกาะขายหัวเราะ ททท. จะโปรโมตการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเกาะหมากและเกาะกระดาดเพื่อให้เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวจากเกาะช้าง ในช่วงไฮซีซั่นเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดตราดที่มีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างครอบคลุมทุกวัย โดยให้เกาะหมากเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพสูง มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ค่อนข้างพร้อม ทั้งการเดินทางเข้าถึงที่สะดวก สถานที่พักให้เลือกหลากหลาย ร้านอาหารของชุมชนจำนวนมาก มีเกาะใกล้เคียงให้เที่ยวได้หลายเกาะ อาทิ เกาะขาม เกาะระยั้ง เกาะกระดาด และเกาะขายหัวเราะ อีกทั้ง เป็นต้นแบบการท่องเที่ยว Low Carbon Destination หนึ่งในรูปแบบท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism: RTs) นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด BCG Economy Model 

นอกจากนี้ จังหวัดตราด ได้เตรียมดำเนินโครงการ เกาะช้าง Together (KOH CHANG TOGETHER) เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบเดียวกับโครงการ Phuket Sandbox โดยให้ความสำคัญมาตรการควบคุมโรคและโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA ที่ ททท. ดำเนินการร่วมกับ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย เพื่อเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนสำหรับการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ (New Normal) ปัจจุบัน จังหวัดตราดมีสถานประกอบการที่ได้รับตราดสัญลักษณ์ SHA แล้วมากกว่า 125 ราย รวมถึงการให้บุคลากรของสถานประกอบการทุกคนได้รับวัคซีนและดูแลสถานประกอบการตามมาตรฐานของสาธารณสุข

อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้รับมาตราฐาน SHA Plus เพื่อรองรับการดำเนินโครงการ เกาะช้าง Together ต่อไป ซึ่งขณะนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA แล้ว กำลังช่วยกันเชิญชวนผู้ประกอบการรายอื่นที่ยังไม่ได้สมัคร ให้มาสมัครเข้าร่วมโครงการมาตรฐานฯ SHA โดยจัดกิจกรรม Workshop สอนวิธีการสมัครแบบตัวต่อตัว ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันได้ติดตามเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรของสถานประกอบการควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ใน 4 พื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดตราด มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี (2559 – 2563) คือ เยอรมัน สวีเดน และรัสเซีย ตามลำดับ เป็นกลุ่มครอบครัวและวัยเกษียณ เริ่มเข้ามาระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ มีวันพักเฉลี่ยที่ 1-2 สัปดาห์ต่อพื้นที่ จากนั้น จะย้ายไปพื้นที่ถัดไปอีก 1 สัปดาห์ เท่ากับอยู่ในพื้นที่จังหวัดตราดประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และเดินทางกลับประเทศ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดตราด ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2563 จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีจำนวน 938,547 คน มาจากภาคตะวันออกและภาคกลางเป็นหลัก เป็นกลุ่มคู่รักวัยทำงานและกลุ่มครอบครัว เริ่มเดินทางมากที่สุดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ยาวไปถึงปลายปี ส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงสุดสัปดาห์ พักเฉลี่ย 2 คืน ใช้จ่าย 6,232 บาท/คน/ทริป

คาดว่า การทำงานร่วมกับบันลือกรุ๊ปในครั้งนี้ จะทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดตราดปรากฏสู่สายตาของนักท่องเที่ยวชาวไทยในรูปแบบของความสนุกสนาน เกิดกระแสการเดินทางในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวมากขึ้น และหากมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของ ศบค. ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเชิงบวกที่จะทำให้จังหวัดตราด มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น ทั้งนี้ จังหวัดตราดจะยังคงดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดภายใต้มาตรการของสาธารณสุขควบคู่ไปด้วย ปัจจุบัน จังหวัดตราดมีมาตรการในการเข้าจังหวัดตามคำสั่งที่ 1389/2564 คือ ประชาชนทุกคนที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง โดยตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือ แสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด AstraZeneca หรือ Johnson & Johnson 1 เข็ม หรือได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นครบ 2 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนเดินทาง (ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) แสดงต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจคัดกรองก่อนเข้าเมือง ก่อนลงเรือและก่อนเข้าพักในจังหวัดตราด

แสดงผล 1535 ครั้ง