ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวกิจกรรม

ททท. ชี้ความสำเร็จ “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 42” มีผู้เข้าร่วมงานฯ ทะลุเป้าหมาย 152,799 คนและสร้างรายได้ภายในงานสูงถึง 63 ล้านบาท

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศความสำเร็จการจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ครั้งที่ 42” วันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2567 ณ ชั้น G ฮอลล์ 1 - 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 152,799 คน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวของปีที่ผ่านมาและสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สร้างรายได้หมุนเวียน 63,487,357 บาท ซึ่งกว่าร้อยละ 96 ของผู้เข้าร่วมชมงานพึงพอใจการจัดงานและเกิดแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.82 โดยมี เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ครองแชมป์ 3 จังหวัดที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวสูงสุด รวมถึงการดำเนินการกิจกรรม “Zero Waste to Landfills” ปีที่ 2 ได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานและผู้ประกอบการเป็นอย่างดี สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12,857.78 กิโลคาร์บอน นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ New Ecosystem สู่เป้าหมาย Sustainable Tourism อย่างแท้จริงในอนาคต

นางสาวฐาปนีย์  เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า เทศกาลเที่ยวเมืองไทยครั้งที่ 42 ประจำปี 2567 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานตลอดระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2567 ถึง 1 เมษายน 2567 อยู่ที่ 152,799 คน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้และเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 104.88 และสร้างรายได้หมุนเวียนในงานฯ 63,487,357 บาท โดยแบ่งสัดส่วนเป็นหมวดอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ร้อยละ 29.79 สินค้าของที่ระลึกท้องถิ่น ร้อยละ 24.01 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวร้อยละ 7.67 และอื่น ๆ ร้อยละ 2.01 ซึ่งผู้เข้าร่วมงานมีความประทับใจต่อการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นทั้ง 5 ภูมิภาคในโซนหมู่บ้านต่าง ๆ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.82 โดยจังหวัดที่มีผู้สนใจเดินทางท่องเที่ยวสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ เชียงราย ชลบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี น่าน กาญจนบุรี และระยอง ตามลำดับ สำหรับความเห็นต่อการเข้าชมงาน พบว่า ผู้เข้าร่วมงานฯ ร้อยละ 89.49 เห็นว่าข้อมูลสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่นำเสนอภายในงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ครั้งนี้ ทำให้เกิดความสนใจท่องเที่ยวชุมชนและสัมผัสวิถีไทยมากถึง ร้อยละ 89.49 และทำให้ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ร้อยละ 87.68 ข้อมูลสินค้าและบริการที่นำเสนอในงานน่าสนใจ ร้อยละ 86.70 ขณะที่ร้อยละ 85.55 ทำให้เกิดความสนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การดำเนินการกิจกรรม “Zero Waste to Landfills” เป็นปีที่ 2 ถือว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งและเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการมุ่งสู่หมุดหมายการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Sustainable Tourism) ทำให้ผู้เข้าร่วมงานและผู้ประกอบการร่วมกันคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งภาระให้กับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการสร้างขยะภายในงาน ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดงาน มีปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ทั้งหมดจำนวน 17,537 กิโลกรัม โดยขยะประเภทต่างๆ จะส่งต่อให้พันธมิตรเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี ได้แก่ ขยะเศษอาหาร (อินทรีย์) ส่งเข้าโครงการ “ไม่เทรวม” ของ กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตย) เพื่อนำไปหมักทำปุ๋ยส่งให้ชาวสวนทำการเกษตรและใช้บำรุงต้นไม้เสริมภูมิทัศน์บริเวณเกาะกลางถนน ขวด PET  นำเข้าโครงการ Youเทิร์น ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลออกเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ อาทิ ผ้าปูที่นอน รองเท้าผ้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น แก้วและฝาครอบ ขวดแก้วและกระป๋องโลหะ นำเข้าร้านรีไซเคิลในพื้นที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกวิธี แก้วพลาสติกและฝาครอบ นำไปเผา โดยบริษัท N15 Tecnology ลังกระดาษ นำส่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เพื่อรวบรวมเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายและผลิตใหม่ ส่วนขยะทั่วไป นำส่งเผาในระบบปิดของโรงงานปูนซีเมนต์โดย บริษัท N15 Tecnology ซึ่งการคัดแยกขยะสู่การกำจัดที่ถูกต้อง ซึ่งการจัดกิจกรรม “Zero Waste to Landfills” ครั้งนี้สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12,857.78 กิโลคาร์บอน หรือ เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 1,428.64 ต้น / ปี

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับความตั้งใจของ ททท. ในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแบบ Moving forward to Better เดินหน้าต่อเนื่องสู่ก้าวต่อไปของการท่องเที่ยวไทยที่ดียิ่งขึ้น โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ New Ecosystem มุ่งสู่ Net Zero Tourism และเป้าหมาย Sustainable Tourism อย่างแท้จริง เพื่อสร้าง“ความมั่นคงทางการท่องเที่ยว” (Tourism Security) และเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันระยะยาว และสมดุลทุกมิติพร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยต่อไป

แสดงผล 402 ครั้ง