ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวกิจกรรม

5 ประเพณี .. หลังวันหยุดสงกรานต์ แต่ก็เป็นสงกรานต์

ช่วงขึ้นปีใหม่ของไทยหรือ “เทศกาลสงกรานต์” เป็นช่วงเวลาแห่งการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ เป็นการรวมญาติ ร่วมทำบุญ เพื่อต้อนรับศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึง ชาวไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ในแบบฉบับของตนเองที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีปฎิทินสงกรานต์ที่ต่างกันออกไป จึงมีบ้างที่ไม่ตรงกับช่วงวันหยุดยาวที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ   ดังนั้น  5 ประเพณีนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีวันหยุดไม่ตรงกับคนอื่นและอยากเห็นประเพณีสงกรานต์ที่ความสวยงามและน่าประทับใจ  

1.    ประเพณียกธงสงกรานต์บ้านเบญพาด 

วันจัดงาน : 17 เมษายน 2560
สถานที่จัดงาน : วัดเบญพาด ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
รายละเอียด : ประเพณีงานบุญเก่าแก่ที่สืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปีของชาวบ้านเบญพาด ชาวบ้านจะร่วมกันแห่ธงที่ทำจากลำไม้ไผ่ ตกแต่งประดับประดาด้วยผืนผ้าสี และอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ อย่างสวยงาม พร้อมกองผ้าป่ามาทำบุญที่วัด เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาลในการทำนา ชมการแข่งขันยกธงที่สะท้อนถึงความพร้อมเพรียง ความสามัคคีของชุมชน และยังให้ความสนุกสนานในวันสงกรานต์ ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย
ติดต่อสอบถาม : องค์การบริหารส่วนตำบลพังตรุ โทร. 034 510588 

2. ประเพณีแห่ต้นดอกไม้

วันจัดงาน : 14, 19, 25 เมษายน 2560 และ 3 พฤษภาคม 2560

สถานที่จัดงาน : วัดศรีโพธิ์ชัย (แสงภา) อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
รายละเอียด : โดยปกติแล้ว การแห่ต้นดอกไม้ในเทศกาลสงกรานต์จะทำกันเกือบทุกวัดในจังหวัดเลย เนื่องความเชื่อที่คล้ายกัน แต่ต้นดอกไม้ของตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จะเด่นกว่าทุกวัด คือ มีขนาดต้นใหญ่และสูงกว่าวัดอื่นๆ  ต้นดอกไม้จะเริ่มทำช่วงบ่ายที่คุ้มบ้านต่างๆ เมื่อทำเสร็จแล้วจะขนมารวมไว้ที่วัด โดยพิธีการจะเริ่มช่วงค่ำ เริ่มจากบูชาพระรัตนตรัย แล้งจึงแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ จังหวะการแห่ประกอบไปกับเสียงดนตรีอีสาน การแห่ต้องโยกตัวให้หมุนตามจังหวะกลองและจังหวัดโยนตัวของต้นดอกไม้ หากบ้านไหนทำต้นดอกไม้ไม่สมดุล ก็อาจหักโค่นลงมาได้ หากทำได้อย่างสมดุลแล้ว ต้นดอกไม้จะหมุนโยกอย่างสวยงาม ต้นดอกไม้วัดศรีโพธิ์ชัยแสงภา ต้นใหญ่ที่สุดมีความกว้างถึง 3 เมตร และสูงถึง 15 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่ประกอบเป็นโครงสร้างตั้งแต่ 10-40 ลำ แล้วแต่ขนาด ซึ่งที่วัดอื่นๆ จะมีขนาดที่เล็กกว่า ส่วนใหญ่ความกว้างไม่เกิน 1 เมตร และสูงไม่เกิน 3 เมตร

            ประเพณีแห่ต้นดอกไม้ ของวัดศรีโพธิ์ชัย จะจัดเพิ่มเติมจากวันที่ 14 เมษายน อีก 3 ครั้ง โดยจัดในวันพระถัดไปอีก 3 วันพระ คือ วันที่ 19,25 เมษายน และ 3 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมานาน โดยทั้ง 4 ครั้งที่มีการจัดงาน จะมีรูปแบบที่เหมือนกัน

ติดต่อสอบถาม : องค์การบริหารส่วนตำบลแสงภา โทร 042 079434


3. ประเพณีทานตุงซาววา

วันจัดงาน : 17 เมษายน 2560

สถานที่จัดงาน : วัดพระธาตุม่อนทรายนอน ต.หลวงใต้ อ. งาว จ. ลำปาง
รายละเอียด :  ประเพณีทานตุงซาววา เป็นพิธีกรรมเก่าแก่นับร้อยปี ของชาวอำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 17 เมษายน ของทุกปีหลังประเพณีสงกรานต์  ชาวบ้านจะนำ “ตุง” (ธง) ที่ยาว "ซาววา" หรือ 20 วา ซึ่งได้รับการประดับตกแต่งด้วยกระดาษสี แห่จากคุ้มบ้านที่เป็นเจ้าภาพจัดทำ (แต่ละปีจะเวียนเป็นเจ้าภาพจัดทำในคุ้มบ้านต่างๆ ) มายังวัดม่อนทรายนอนหรือวัดดอย  เมื่อเข้าพิธีถวายตุงแล้วจึงแห่ตุงรอบเสาสูงกลางลานวัดพระธาตุม่อนทรายนอน ซึ่งจะมีการฉีดน้ำโปรยปรายเพื่อดับความร้อนเป็นที่สนุกสนาน เมื่อแห่ครบ 3 รอบ จึงชักตุงขึ้นสู่ยอดเสา การถวายตุงความเชื่อว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลแด่เจ้าแม่สรรพกิ ( สัป-ปะ-กิ๊ ) เจ้าเมืองงาวในอดีต ซึ่งบุญครั้งนี้จะช่วยให้ได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์

 เรื่องน่าแปลกของประเพณีคือ ถึงแม้จะมีการกำหนดให้ตุงยาว “ซาววา” แต่ทว่าในแต่ละปี ตุงจะยาวไม่เท่ากัน ประเพณีอีกนัยย์หนึ่งคือ เป็นการทำนายสภาพอากาศในปีนั้น  หากปีใดหางตุงยาวจนติดพื้นหรือยาวกว่านั้น ทำนายว่าน้ำจะมาก หากตุงสั้น ทำนายว่าน้ำจะแล้ง  ปีไหนตุงยาวพอดี คือน้ำท่าบริบูรณ์ ซึ่งการทำนายช่วยให้ชาวบ้านสามารถเตรียมการเพาะปลูกได้ถูกต้องตามปริมาณน้ำได้อย่างเหมาะสม

ติดต่อสอบถาม : วัดม่อนทรายนอน  โทร.085 719 8482

4. สงกรานต์ไทยรามัญบางกระดี่

วันจัดงาน : 16-18  เมษายน 2560

สถานที่จัดงาน : วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
รายละเอียด :  ประเพณีสงกรานต์ไทย-รามัญ บนสองฝั่งคลองสนามชัย ที่วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน นับเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ และเคร่งครัดในวัฒนธรรมมอญมากที่สุดในฝั่งธนบุรี ชาวมอญกว่า 3,000 คนจะแต่งตัวด้วยเสื้อลายดอก มีผ้าสไบคล้องคอทั้งชาย-หญิง มารวมตัวกันเพื่อร่วมประเพณีอันดีงาม

ติดต่อสอบถาม :  ฝ่ายพัฒนาชุมชนเขตบางขุนเทียน โทร. 02 4161260-1

5. ประเพณีชักกะเย่อเกวียนพระบาทและถวายเจดีย์ทราย

วันจัดงาน : 15-17  เมษายน 2560

สถานที่จัดงาน : วัดตะปอนใหญ่ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
รายละเอียด :  ประเพณีชักกะเย่อเกวียนพระบาท ณ บ้านตะปอน อ.ขลุง จ. จันทบุรี  ทำกันมานามกว่า 3 ชั่วอายุคน  เกิดจากเมื่อครั้งหนึ่ง เกิด"โรคห่า"ในหมู่บ้าน ผู้คนล้มตายเป็น "เบือ" ถึงขนาดที่ว่าพ่อแม่ไปฝังศพลูกคนหนึ่ง พอกลับบ้านลูกอีกคนก็ตาย  ชาวบ้านขวัญหนีไม่เป็นระส่ำ พระที่วัดตะปอนจึงได้นำ "ผ้าพระบาท" ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธา นำมาขึ้นเกวียนแห่ให้ได้กราบขอพร  ซึ่งทำให้โรคระบาดได้ซาลงและหายไป จึงเกิดแรงศรัทธาแก่ผ้าพระบาท  ดังนั้นชาวบ้านจึงมีการแย่งชิงผ้าพระบาทเพื่อให้นำไปสักการะที่หมู่บ้านตนก่อน  และเกิดการชักกะเย่อกันขึ้น เมื่อหมู่บ้านไหนชักกะเย่อแพ้ก็จะตามคนในหมู่บ้านมาช่วย

      ปัจจุบัน "ผ้าพระบาท" ได้มีการอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะในช่วงวันสงกรานต์  ชาวตะปอนจะนำผ้าพระบาทขึ้นเกวียนแห่ไปทั่วหมู่บ้าน  และเกิดการละเล่นเชิงประพณีขึ้น คือ "ชักกะเย่อเกวียนพระบาท"  และมีการกำหนดกติกาและวันที่ชักกะเย่อชัดเจน

    ในช่วงค่ำ จะมีการก่อเจดีย์ทราย ตกแต่งด้วยดอกไม้และจุดเทียนอย่างสวยงาม แล้วทำพิธีถวาย ทำให้เกิดภาพที่สวยงามของแสงเทียนและความพร้อมเพรียงของชาวตะปอน

ติดต่อสอบถาม : เทศบาลเกวียนหัก โทร. 039 362268


 

แสดงผล 1300 ครั้ง