ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวกิจกรรม

แซ่บอีสาน กับงานบุญที่ยิ่งใหญ่ “แห่นาคโหด” จังหวัดชัยภูมิ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา ร่วมกับ  จังหวัดชัยภูมิ   และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนการประชาสัมพันธ์โดย ขอเชิญทุกท่านร่วมงานบุญที่ยิ่งใหญ่และงานแห่งพลังศรัทธา ประเพณีบุญเดือนหก “แห่นาคโหด” แห่งเดียวในโลก     ในวันที่ ๑ พฤษภาคม  ๒๕๕๘  เวลา ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป ณ บ้าน   โนนเสลา – โนนทัน ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

งานบุญแห่งพลังศรัทธามหามงคล ด้วยความเชื่อที่เป็นศิริมงคล งานบุญที่ยิ่งใหญ่ ชายชาตรีที่มีอายุครบ ๒๐ ปี หรือผู้ที่ศรัทธาต่อ       ร่มกาสาวพัสตร์ใต้ร่มฉัตรมงคล  น้ำตาที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เต็มเปี่ยมด้วยปิติไมตรีของ บิดา มารดาและญาติมิตร กับชีวิตที่ผ่านพ้นมาและคราบชีวิตที่ปลงแล้ว....กว่าจะมาเป็น “พระ” ต้องผ่านการอุปสมบท    (บวช)และแน่นอน...อุปสรรคที่ขวางกั้นต้องไม่ธรรมดา  สิ่งเหล่านี้  ผ่านการยอมรับของชุมชนและคนเมืองชัยภูมิ “แห่นาคโหด”       

สำหรับ ประเพณีแห่นาคโหด ที่บ้านโนนเสลานี้ ถือเป็นประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี โดยชาวบ้านจะร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มหรือบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ ๒๐ ปี เพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ด้วยความตั้งใจที่จะบวชเอง ซึ่งจะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนสี่ โดยผู้เป็นบิดาจะพาบุตรชายไปฝากไว้กับเจ้าอาวาส ใน ๒ วัดของหมู่บ้านโนนเสลา คือวัดบุญถนอมพัฒนาราม (วัดนอก) และวัดตาแขก (วัดใน) เพื่อถือขัน ๕ ประกอบด้วย เทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ ไปฝากตัวเป็นนาคปฏิบัติธรรมถือศีล ๘ อยู่ที่วัด เรียนรู้บทสวดที่จะบวช และเรียนรู้   พระธรรมวินัยเบื้องต้น ก่อนถึงกำหนดวันบวชของประเพณี  งานบุญเดือนหกเริ่มต้นด้วย พิธีการตัดและโกนผมนาคกันก่อน   ตามพิธีบวชปกติ  แต่ก่อนจะเข้าพิธีสู่ขวัญ นาคทุกคนจะต้องพากันออกจากวัดไปกราบศาลปู่ตาซึ่งเป็นศาลประจำหมูบ้าน  กันก่อน เมื่อเสร็จแล้วนาคทุกคนค่อยกลับวัดเพื่อทำพิธีสู่ขวัญนาคต่อไป  จากนี้ไปเป็นความเชื่อที่นับถือกันต่อมา  ด้วยการ    แห่นาค จากบ้านตนเองรอบหมู่บ้าน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้าน มาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่าโยนนาคอย่างรุนแรง ถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่า ผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ โดยผู้บวชจะต้องประคองตัวเองไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ หากใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช โดยจะเป็นเช่นนี้ตลอดระยะทางที่แห่รอบหมู่บ้านกว่า ๓ กิโลเมตร ซึ่งตั้งแต่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาใน พ.ศ. ๒๕๑๔ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดตกลงมาถูกดินเลยสักราย ถึงแม้จะได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่สุด คือ ศีรษะแตกและแขนหลุดก็ตาม ศรัทธามหามงคลยังดำเนินต่อไปตามความเชื่อและความรู้สึกในเส้นทางศาสนา แม้จะแห่ด้วยความโหด แต่ด้วยความมุ่งมั่นตลอด ๓ – ๔ ชั่วโมง อย่างต่อเนื่อง และด้วยรอบโบสถ์วัดอีก ๓ รอบ ความศรัทธายังไม่เสื่อมคลาย....สิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นความแซ่บของอีสานที่ลงตัวและหล่อหลอมด้วยความเป็นเสน่ห์ที่ยั่งยืน ควรค่าแก่การเรียนรู้และสืบทอดต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อำเภอภูเขียว โทรศัพท์ ๐ ๔๔๘๖ ๑๐๐๐ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตูม  โทรศัพท์ ๐ ๔๔๘๒ ๓๖๒๗ 

 

แสดงผล 1232 ครั้ง