ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวเทศกาล

ททท. สำนักงานแพร่ ขอเชิญร่วมงาน “ประเพณีกำฟ้า ประจำปี ๒๕๕๖”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว และผู้สนใจร่วมงาน “ประเพณีกำฟ้า ประจำปี ๒๕๕๖” ในระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ บริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง กำหนดให้มีการจัดงานประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวนตำบลทุ่งโฮ้ง ประจำปี ๒๕๕๖ ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ บริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ขนบประเพณี วัฒนธรรมวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์จำเพาะ ตลอดจนเพื่อเป็นการสักการบูชา และรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวไทยพวน

ไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๐ – ๒๓๘๐ ไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง หรือชื่อเดิมเรียกว่า บ้านทั่งโฮ้ง “คำว่าทั่ง” หมายถึง ที่รองรับการตีเหล็ก คำว่า “โห้ง” เป็นภาษาไทยพวน หมายถึงสถานที่เป็นแอ่งลึกลงไป คนพวนว่า สมัยก่อนนั้นคนพวนบ้านทุ่งโฮ้งจะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน เขาจึงเรียกว่า “บ้านทั่งโห้ง” ส่วนคำว่า “ทุ่งโฮ้ง” คงจะเป็นคำเพี้ยงจากคำว่า “ทั่งโห้ง” อาชีพหลักของชาวบ้านทุ่งโฮ้ง คือการทำผ้าหม้อห้อมแท้ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ จนได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม (OTOP Village Champion Handicrafts Tourism)

ประวัติประเพณีกำฟ้า ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินสยาม มีโอกาสให้เจ้าชมพูยกทัพไปตีร่วมกับเจ้าเวียงจันทน์ ตีได้สำเร็จ ต่อมาเจ้าชมพูแข็งเมือง ไม่ยอมส่งส่วยให้เวียงจันทน์ และหลวงพระบางเหมือนเช่นเคย เจ้านนท์แห่งเวียงจันทน์โกรธมาก จึงส่งให้แม่ทัพชื่อเขียวไปปราบเมืองพวน เจ้าชมพูแพ้ถูกจับได้ และถูกสั่งประหารชีวิตด้วยหอก  ขณะที่ทำการประหารนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์ ฟ้าได้ผ่าลงมาถูกหอกหักสะบั้น  เจ้านนท์เห็นว่าเจ้าชมพูเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมี จึงสั่งให้ปล่อยกลับไปครองเมืองพวนดังเดิม ด้วยเหตุนี้ชาวไทยพวนจึงเห็นความสำคัญของฟ้า จึงเกิดประเพณี “กำฟ้า” ขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

กำฟ้า หมายถึง การนับถือสักการบูชาฟ้า การแสดงกตเวทิตาต่อฟ้าที่ท่านได้คุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกินดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ โดยชาวไทยพวนทุกคนจะหยุดทำงานทุกชนิด คือ หยุดทำไร่ ทำนา ทอหูก ปั่นฝ้าย ตีเหล็ก เป็นต้น แม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น ในวันกำฟ้า ชาวไทยพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่นในตอนกลางคืน และการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน ในวันกำฟ้า จะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ

โดยในบริเวณงานจะประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การจัดซุ้มแสดงรูปแบบวิถีชีวิตไทยพวนของชุมชน ขบวนแห่วิถีชีวิตไทยพวน การแสดงบนเวที การจัดนิทรรศการ การออกร้านของส่วนราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา และกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย   

ททท.สำนักงานแพร่ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมอนุรักษ์สืบสานขนบประเพณี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ในระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ บริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง โทร. ๐ ๕๔๕๒ ๒๔๕๘ ต่อ ๒๓ หรือสอบถามข้อมูลการเดินทาง และการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ได้ที่ ททท.สำนักงานแพร่ โทรศัพท์ ๐ ๕๔๕๒ ๑๑๑๘, ๐ ๕๔๕๒ ๑๑๒๗

แสดงผล 1209 ครั้ง